ภาพยนตร์
กุหลาบเชียงใหม่ (2478/1935) กุหลาบเชียงใหม่ต้องชอกช้ำเพราะหนุ่มโกเสต (ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ วารศัพท์ พฤศจิกายน พ.ศ. 2478)
ความรักในเมืองไทย (2476/1933) ฮักเคี๋ยง หนุ่มชาวจีนถูกภรรยานอกใจ มิหนำซ้ำยังปรักปรำตนว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น หลีเจียงซัง หลบหนีมาอยู่ประเทศสยาม หลีเจียงซังได้งานเป็นผู้จัดการโรงสีไฟไต่ฟุงของนายฉั่นกาเซ้ง ไม่นานนักหลีเจียงซังก็พบรักใหม่กับ เซียกฟา บุตรสาวของฉั่นกาเซ้ง เคราะห์กรรมของเขายังไม่หมดไปวันหนึ่งหลีเจียงซังพบกับ เหล่าไกว่ฉุ่ง ชายชู้ของภรรยาเก่าโดยบังเอิญ หลีเจียงซังขอร้องไม่ให้เหล่าไกว่ฉุ่งแพร่งพรายเรื่องในอดีต เหล่าไกว่ฉุ่งจึงฉวยโอกาสนี้บังคับหลีเจียงซังร่วมมือฉ้อฉลโรงสีไฟไต่ฟุง เมื่อความแตกเหล่าไกว่ฉุ่งก็ป้ายสีความผิดแก่หลีเจียงซัง เซียกฟาผิดหวังมากขอร้องให้บิดาไล่หลีเจียงซังออกจากโรงสี ชุยเหลา ภรรยาเก่าของหลีเจียงซังตามเหล่าไกว่ฉุ่งมายังสยามและเกิดมีปากเสียงกัน หลีเจียงซังมาเห็นเหตุการณ์บันดาลโทสะควักปืนยิงทั้งคู่แต่ไม่โดนเหล่าไกว่ฉุ่งเข้าใจว่าชุยเหลาคิดทรยศจึงทำร้ายชุยเหลาบาดเจ็บปางตาย เหล่าไกว่ฉุ่งกินเหล้าระงับสติ แต่ด้วยเวรที่ทำไว้ หยิบยาพิษมาดื่มถึงแก่ความตาย หลีเจียงซังตามมาพบก็เกิดความสลดใจและตัดใจกลับเมืองจีน ขณะนั้น พ่อแม่ของหลีเจียงซังมาประเทศสยามเพื่อตามหาลูกชาย ความจริงจึงปรากฏว่าครอบครัวของหลีเจียงซังเป็นญาติกับฉั่นกาเซ้ง ที่สุดสองหนุ่มสาวจึงได้คืนรักและแต่งงานกัน
อำนาจความรัก (2476/1933) เป็นเรื่องราวของความรักที่มีอิทธิพลเหนือสิ่งอื่นใด พิมพ์ ศรีเวียง เป็นแม่ค้าปลาที่ตำบลศรีราชา ด้วยความสวยของพิมพ์ จึงเป็นที่หมายปองของหนุ่มๆ แม้กระทั่ง ทับ พ่อเลี้ยง และ สิน หาญสมุทร นักเลงท้องถิ่น แต่ทั้งสองก็ได้แต่แอบรักพิมพ์อย่างเงียบๆ จนกระทั่ง นาคร อุดมลักษณ์ ชายนักท่องเที่ยวปรากฏตัว นาครพา นารา น้องสาว และ ชอบ วิชัย เพื่อนสนิทมาตากอากาศที่ศรีราชา แต่เรือถูกพายุพัดล่ม จึงมาขออาศัยพิมพ์ ทั้งสองเริ่มสนิทสนมกันทำให้สินอิจฉา และตัดสินใจขืนใจพิมพ์กลางวันแสกๆ แต่นาครช่วยไว้ทันสินหาทางดักทำร้ายนาครด้วยวิธีต่างๆ แต่ทับมาช่วยไว้และถูกแทงอาการสาหัส ก่อนตายทับสารภาพกับพิมพ์ว่าไม่ได้รักพิมพ์แบบลูกสาว แต่รักพิมพ์แบบคนรัก และขอจูบพิมพ์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนสิ้นใจ
หมัดพ่อค้า (2474/1931) เป็นเรื่องเกี่ยวแก่การชิงรักระหว่างพ่อค้าชาวกองเกวียน มีการยกพวกปล้นกองเกวียน การต่อสู้กันด้วยอาวุธปืนและหมัดมวยอย่างโลดโผน (ที่มา: หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ธันวาคม พ.ศ. 2474)