ครูมะ ห้อง ป.3 ก.
ครูมะ ห้อง ป.3 ก. (2565/2022) ก้าวย่างแรกของคุณครูคนใหม่ ประจำชั้นห้อง ป.3 ก. ด้วยรูปลักษณ์การแต่งกาย ที่ไม่คิดว่าจะได้เจอจากคนที่เป็นครู จนเด็ก ๆ บางคนอดที่จะอุทานออกมาไม่ได้ว่า "ครูแต่งตัวโคตรมะ" จนกลายเป็นสมญานามในเวลาต่อมาว่า "ครูมะ" ด้วยการสอนที่สนุกสนาน หรรษา ไม่ยึดติดตำราเรียน เหมือนคำขวัญที่ให้เด็ก ๆ ว่า "การเล่นคืองานของเรา" จึงทำให้ครูมะคนนี้ สามารถได้ใจเด็ก ๆ ไปครอง เรื่องราวที่สะท้อนภาพการเรียนการสอนในสมัย 40 ปีก่อน ยุคนั้นการใช้ไม้เรียวยังเป็นที่นิยมและใช้ได้ผล ซึ่งครูมะเลือกที่จะไม่ใช้มัน แต่เลือกใช้วิธีเข้าถึงธรรมชาติของเด็ก ๆ ที่มีหลากเชื้อชาติ ทั้ง ไทย จีน เวียดนาม กัมพูชา เพราะโรงเรียนแห่งนี้ติดกับชายแดนไทยฝั่งอรัญประเทศ ท่ามกลางสงครามกลางเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศเรา หากเป็นคนที่เคยชินและอยู่ในกฎเกณฑ์ข้อบังคับเข้มงวดมานาน พอได้เห็นการสอนของ ครูวิชัย หรือ ครูมะ ต่างพากันขมวดคิ้ว แม้การสอนของเขาจะน่าสนใจ ให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ แต่การทำอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น ทำให้เขาถูกมองว่าเป็นชายหัวขบถ สุดโต่งเกินไป คุณครูบางคน จึงไม่พอใจ ต้องการทำให้ครูวิชัย พ้นสภาพการเป็นครูของโรงเรียนนี้ ความตั้งใจของครูวิชัย แตกต่างกับ ลลนา ครูสาวสวยที่ต้องมาเป็นครูโรงเรียนชายแดน แบบไม่เต็มใจ ไร้อุดมการณ์ จนความสัมพันธ์เริ่มก่อตัวขึ้นทีละเล็กละน้อย จนภายหลังจะกลายเป็นคู่มิตรที่ดีต่อกัน ครูมะ ห้อง ป.3 ก ในห้อง ป.3 ก. นอกจากเด็กหลากเชื้อชาติ ยังรวบรวมเด็กบุคลิกแตกต่างกันเอาไว้ ทั้งเด็กหัวกะทิ ที่ครอบครัวตั้งความหวัง เด็กขี้อายที่ไม่กล้าอ่านหนังสือให้เพื่อนฟัง เด็กชายที่ดื้อซนมาก ไปจนถึงเด็กที่ฐานะไม่ดี ต้องช่วยทำงานหารายได้หลังเลิกเรียน ซึ่งพวกเขาทั้งหมด ล้วนรับค่านิยม และการเรียนการสอนแบบใหม่จากครูวิชัยด้วยกันทั้งนั้น กระทั่ง ครูมะ ตกเป็นผู้ต้องสงสัย อดีตขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา ที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ขณะเดียวกับ ครอบครัวของลูกศิษย์เชื้อสายเวียดนาม ถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับของคอมมิวนิสต์ ทำให้คนที่ต้องการให้ร้ายได้โอกาส แต่กระนั้น ครูมะ พยายามรักษาบรรยากาศการเรียนให้สนุกสนาน กระตุ้นทักษะพรสวรรค์ ของนักเรียนออกมา การนำเสนอมุมมอง ที่อยู่ในกรอบ กับออกนอกกรอบ จนวันหนึ่งที่เขาต้องจากไป บางครั้งการเรียนการสอนของครูวิชัยก็ไม่ได้ดีพร้อม และใช้ได้กับทุกสถานการณ์ เช่นเดียวกับ การเรียนการสอนแบบท่องตำราของครูคนอื่น ที่ทำให้เด็ก ๆ สอบผ่าน แต่ก็ไม่ได้มีอะไรให้พวกเขาเรียนรู้เพิ่มเติม ดังนั้น การมองหาจุดกึ่งกลางจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งละครเรื่องนี้ได้ทิ้งคำถามชวนขบคิดเอาไว้ว่า แท้จริงแล้ว ด้วยความหวังดีจากผู้ใหญ่ เราอาจกำลังปิดกั้น ตีกรอบชีวิตของเด็ก ซึ่งเต็มไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์และศักยภาพมากมาย โดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า
คุณต้อง เข้าสู่ระบบ จึงจะสามารถรีวิวได้
ยังไม่มีรีวิว